วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2565

ฉันอยากมีความสุข

เคยคิดไหม...ทำไมเราถึงไม่โชคดีเหมือนคนอื่น ทำไมเราไม่ได้รับโอกาสดี ๆ ทำไมเราไม่รวยเหมือนคนอื่น ทำไมเราไม่ได้ทำงานดี ๆ มีหัวหน้าดี ๆ มีเพื่อนที่ดี มีแฟนดี ๆ และอีกหลายๆอย่าง ที่เราอยากได้อยากเป็นถ้าเรามองให้ลึกลงไปในความต้องการนั้น ๆ เราจะรู้ว่าสุขหรือไม่สุขมันขึ้นอยู่กับมุมมองของเราที่เลือกจะให้น้ำหนักกับเรื่องนั้น ๆ มากกว่าจริงไหม? จริง ๆ แล้วเราแค่ไม่สมปรารถนาเราจึงคิดว่าเราโชคร้าย และไม่มีความสุขเท่าคนอื่น

เราจึงเรียนรู้และคุ้นเคยว่าถ้าเราอยากได้ในสิ่งที่ปรารถนาอยากมีความสุข เราต้องฝึกฝน ต้องเรียนรู้เพิ่มความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ เพื่อให้เราใกล้ความน่าจะเป็นที่เราปรารถนาที่สุด จริง ๆ แล้วก็เป็นวิธีที่ถูกที่สุดแต่ก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าเราจะสมปรารถนาได้ 100%  เพราะไม่มีใครในโลกนี้จะสมหวังดังปรารถนาทุกอย่างจริงไหมแต่มีวิธีที่ง่ายกว่านั้นคือการลดความคาดหวังซึ่งเป็นวิธีที่พูดง่าย แต่ทำยาก เพราะมนุษย์ถูกสร้างมาให้มีสังคม ให้ถูกยอมรับ บางคนพยายามมาก ๆก็สมหวังได้ บางคนไม่ต้องพยายามก็สมหวัง ไม่มีกฎตายตัว บางครั้งเราทำดีกับใคร ก็ไม่ได้การันตีว่าเขาจะดีกลับมาหาเราทุกคนหรอกจริงไหม ? ถึงมีคำว่าทำคุณคนไม่ขึ้น

เราลองถามตัวเองก่อนว่าถ้ามีคนมาดีกับเราหลายคนเราจะดีกลับไปทุกคนไหม? ในความเป็นจริงเราทุกคนอยากมีสิทธิ์เลือกที่จะรักใคร ดีกับใคร หรือเฉยๆกับใครเช่นกัน จริงไหม? แต่ก็ไม่ควรเป็นเงื่อนไขที่เราจะต้องเอาไปใช้กับคนอื่นนะเราควรฝึกจิตให้มีเมตตาเป็นพื้นฐานดีที่สุด ทุกคนมีความเป็นปัจเจกของตัวเอง ทุกคนมีความเป็นตัวเองแม้กระทั่งตัวเราเอง แต่ก็เป็นเรื่องน่าแปลกที่เราก็ทำไม่ได้แต่เราก็ต้องการสิ่งนี้จากคนอื่น ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เช่นกัน

การตระหนักเสมอว่าเราควบคุมบางอย่างได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ส่วนปัจจัยภายนอกเราควบคุมไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้คือทำให้มันใกล้ความน่าจะเป็นที่สุดเท่านั้น เช่น ทำตัวให้มีค่าให้ผู้ชายที่เราชอบเลือกเรา หรือ ดูแลสุขภาพดีจะได้ไม่เป็นมะเร็ง แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าเราจะไม่เป็นมะเร็งถูกไหม ? ถ้าเราเข้าใจโลกตามความเป็นจริงว่าเราไม่ได้เก่งกาจไปกว่าคนอื่นเรายังต้องเรียนรู้ เราต้องเคารพคนอื่นให้พอๆกับที่เราอยากให้คนอื่นเคารพเรา เมื่อเราคิดได้แบบนี้เราก็จะถ่อมตัวมากขึ้นตัวเราจะเล็กลงและยอมรับคนอื่นใด้มากขึ้น เบียดเบียนคนอื่นน้อยลง คาดหวังกับตัวเองและคนอื่นน้อยลง เราจะเป็นอิสระจากปัจจัยภายนอก และทุกข์น้อยลง มีความสุขมากขึ้นเพราะไม่เอาความสุขหรือความคาดหวังของเราไปผูกไว้ที่ใครคนใดคนหนึ่ง 

เมื่อคุณมีความทุกข์มากพอ คุณจะเริ่มกลับมาหาตัวเองมากขึ้น ฟังเสียงตัวเองมากขึ้นและรักตัวเองมากขึ้นประสบการณ์เกิดจากการเจอเหตุการณ์จริงได้คิดและแก้ปัญหาจริง ๆ ไม่ใช่การเห็น การอ่าน การฟังหรืออยู่กับสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ นาน ๆ เมื่อคุณได้ฝึกคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเองซ้ำ ๆ ปัญหาจะตกผลึก ถูกกลั่นกรอง และเข้าใจว่าทุกข์นั้นเป็นเรื่องปกติ สุขนั้นก็เป็นเรื่องปกติ เหมือนดวงอาทิตย์ที่ต้องขึ้นทิศตะวันออกทุกวัน เมื่อไหร่ที่เราเข้าใจแบบนี้ ความทุกข์ก็เป็นเรื่องปกติ คุณจะเป็นอิสระจากความคิดทั้งเชิงบวกและเชิงลบ


ยิ่งอยากเข้าใจความทุกข์เท่าไหร่ก็ยิ่งจมดิ่งในทุกข์นั้น บางคนเกิดปัญญาจากความทุกข์ บางคนทุกข์หนักกว่าเดิม เพราะกำลังหาเหตุผลกับสิ่งที่เป็นปกติที่คุณคิดว่ามันไม่ปกติ แต่เมื่อไหร่ที่เราเข้าใจ จะไม่รู้สึกอะไรเลยไม่ใช่การเพิกเฉยต่อปัญหาแต่เป็นการยอมรับว่า..ตลอดไปไม่มีจริงและทุกอย่างก็เป็นเช่นนั้นแล...มีเหตุถึงมีผล บางอย่างก็ไม่มีเหตุผลเป็นเรื่องปกติ ถ้าทำดีที่สุดแล้วก็แค่ยอมรับมัน

สุดท้ายเราทุกคนรวมถึงผู้เขียนด้วยควร Balance ทั้งทุกข์และสุขให้พอดี ไม่หวังอะไรเลยก็ไม่ได้ หวังมากไปก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีเพราะเราจะผิดหวังแน่นอน.. เพราะความสุขที่แท้จริงคือความเข้าใจว่าไม่ว่าจะเป็นความสุข หรือ ความผิดหวัง มันเป็นเรื่องปกติของทุกชีวิตที่ต้องพบเจอเพราะความสุขอยู่ที่มุมมองของคุณเอง.


photo credit by : istockphoto

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผิดบ้าง แพ้บ้าง

เราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะดีกว่าเดิมได้ ...คำ ๆนี้หลายคนคุ้นหูและผ่านตาเป็นประจำ แม้เราจะรู้ว่ามันทำได้จริง แต่ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถท...